ธ.ก.ส. ร่วมปลูกป่า เฉลิมพระเกียรติฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงฯ  

ธ.ก.ส. เดินหน้า 7 แผนงานเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศ 26 ล้านไร่ พร้อมเติมทุนหนุนการสร้างอาชีพและรายได้ที่มาจากป่าไม้เพื่อสร้างความมั่งคั่งและยั่งยืนตามหลัก BCG พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมปลูกป่า เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 90 พรรษา

 (วันนี้ 16 มิ.ย. 65) ณ วัดป่าธรรมวิสุทธิมงคล ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี นายสมเกียรติ  กิมาวหา รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานในโครงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา โดยมีเกษตรกรภาคีเครือข่าย คณะผู้บริหารและพนักงานในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรม

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาแก้ไขปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลัน ภาวะฝนแล้งหรือน้ำท่วม ก่อให้เกิดผลกระทบไปยังเกษตรกรทั้งความเสียหายด้านการผลิตและรายได้ที่ลดลง ผ่านการดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้ ตั้งแต่ปี 2553 และในปี 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน “โครงการชุมชนไม้มีค่า” วางเป้าหมายภายใน 10 ปี ประเทศไทยจะมีชุมชนไม้มีค่า 20,000 ชุมชน พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ และมีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 2.6 ล้านครัวเรือน มุ่งหวังให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,040 ล้านบาท โดยประชาชนสามารถใช้ต้นไม้บนที่ดินของตนเองเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินและต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพ ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้กับ ธ.ก.ส. กว่า 6,838 ชุมชน มีสมาชิกธนาคารต้นไม้ 123,424 คน สามารถปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นบนพื้นที่ประเทศไทย 12,369,563 ต้น พร้อมวางเป้าหมายพัฒนาไปสู่ชุมชนไม้   มีค่า เพื่อสร้างรายได้จากผลผลิตและกิจกรรมจากป่าไม้ โดยมีแผนในการดำเนินงาน ดังนี้

1. แผนงานสร้างมูลค่าเพิ่มชุมชนไม้มีค่า โดยสนับสนุนให้ชุมชนที่ดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้กับ ธ.ก.ส. พัฒนาไปสู่ชุมชนไม้มีค่า จำนวน 321 ชุมชน มีการจัดทำกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่ายและปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อสร้างอาชีพและรายได้จากกิจกรรมและผลผลิตที่ได้จากไม้และป่าไม้ เช่น การเพาะกล้าไม้ การเผาถ่าน การทำน้ำส้มควันไม้ สมุนไพร การแปรรูปไม้เป็นเฟอร์นิเจอร์ และการรับจ้างปลูกต้นไม้ เป็นต้น คาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้ชุมชนกว่า 90 ล้านบาท

2. แผนงานสร้างผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้ ธ.ก.ส. ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จัดทำหลักสูตรสร้างผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้ เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรในการตรวจวัดและประเมินมูลค่า ส่งเสริมการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรจะได้รับวุฒิบัตรจาก มก. จำนวน 430 ชุมชน จำแนกเป็นกรรมการและสมาชิกโครงการธนาคารต้นไม้ 976 คน พนักงาน ธ.ก.ส. 528 คน รวมผู้ผ่านการอบรมทั้งสิ้น 1,504 คน

3. แผนงานสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offset) ธ.ก.ส. มุ่งสร้างการตระหนักรู้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างสมดุลเชิงนิเวศด้วยการสนับสนุนชุมชน จำนวน 2,721,900 บาท ให้กับธนาคารต้นไม้ที่ได้รับการรับรองปริมาณก๊าชเรือนกระจกจากองค์การบริหารจัดการก๊าชเรือนกระจก (อบก.) จำนวน 60 ชุมชน คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้ 468,355 ตันคาร์บอน นอกจากนี้ยังพัฒนาชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น ให้ขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program :T-VER) ซึ่งถือเป็นการเตรียมพร้อมในการพัฒนาไปสู่ระดับที่สามารถซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิต และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offsetting)

4. แผนงานสนับสนุนชุมชนลดมลพิษ ผลจากการทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทำให้เกิดมลพิษ ทั้งทางอากาศ ทางน้ำและทางดิน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนชุมชนธนาคารต้นไม้ ในการดำเนินกิจกรรมลดมลพิษตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดโดยชุมชน เช่น กำหนดเกณฑ์จำนวนต้นไม้ ชนิดพันธุ์ไม้ พื้นที่ปลูกการดูแลรักษา โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ชุมชนละ 4,000 บาท ซึ่งมีธนาคารต้นไม้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 24 ชุมชน

5. แผนการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน ธ.ก.ส. ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการจดทะเบียนไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งผลการดำเนินงานมีเกษตรกรนำต้นไม้มาใช้เป็นหลักประกัน จำนวน 3,096,499 บาท

6. แผนการจัดทำโครงการส่งเสริมการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนให้ชุมชนตระหนักถึงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเตรียมการตั้งฐานการชดเชย การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offsetting) ตั้งเป้าหมายในการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 76 ชุมชนและมีชุมชนที่เข้าร่วมตั้งฐานแล้ว 9 ชุมชน

7. แผนการจัดทำโครงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในปีนี้ดำเนินการปลูกป่าไปแล้วจำนวน 129,000 ต้น รวมถึงการดำเนินกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ในครั้งนี้ พร้อมเป้าหมายดำเนินกิจกรรมดังกล่าวในพื้นที่อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง 

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า นอกจากแผนงานข้างต้น ธ.ก.ส. พร้อมเตรียมทุนสนับสนุนกิจกรรมในการปลูกต้นไม้และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการธนาคารต้นไม้และโครงการสินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืน วงเงินรวมกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนและเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ การสนับสนุนการปลูกสวนป่า อัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการปลูก ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรไปแล้ว จำนวน 7.47 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรลูกค้าที่ประสงค์จะใช้บริการสินเชื่อ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และ Call Center 02 555 0555.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password