“ปริญญา” ชี้ ความ “ไม่ชอบมาพากล” กรณี กกต.ส่งคำร้องพิธาถือหุ้น ชงศาลรธน.
“ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” นักวิชาการด้านกฎหมาย มธ. ชี้ มีหลายปัจจัย ที่มีความไม่ชอบ มาพากล กรณี กกต.ส่งคำร้อง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ถือหุ้นไอทีวี ส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยพ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก #ความไม่ชอบมาพากล ของการ #ส่งคำร้องพิธาถือหุ้นสื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาดังนี้
ผมเห็นว่า มติ กกต.ที่สรุปว่า “สมาชิกภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) จึงให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป” นั้น มีความผิดปกติหลายประการ ดังนี้
1.กกต.ได้เคยแถลงว่า #ได้ยกคำร้องเรื่องการถือหุ้นสื่อมวลชนของพิธาไปแล้ว โดยจะเปลี่ยนเป็นการดำเนินคดีตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง มาตรา 151 (ฐานความผิดคือรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติแล้วยังมาสมัคร ส.ส.) แทน ทั้งนี้ หาก ส.ส.จะเข้าชื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเองก็เป็นเรื่องของ ส.ส.
แต่อาจจะเป็นเพราะ #รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของไอทีวี ในส่วนการตอบคำถามของประธานที่ว่า “บริษัทยังดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท” เป็น #ข้อความอันเป็นเท็จ เพราะไม่ตรงกับคลิปบันทึกการประชุม ก็เลยไม่มี ส.ส.ฝั่งรัฐบาลเดิมที่จะเล่นเรื่องนี้ต่อ
พอเวลาผ่านไปสองเดือน อยู่ดีๆ ก่อนหน้าวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไม่กี่วัน เมื่อ ส.ว.ที่ประกาศว่าจะไม่โหวตให้พิธาไป “เร่งรัด” กกต. ก็พลิกกลับมาใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเอง นี่เป็นความไม่ปกติประการที่หนึ่ง
2.การพิจารณา ที่ประชุม กกต.ก็ใช้เวลา #รวบรัด แค่ 3 วัน โดย #ไม่เชิญพิธาไปชี้แจงหรือให้ข้อมูลแต่ประการใด นี่เป็นความผิดปกติประการที่สอง แม้ว่าการร้องศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 จะไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องเชิญฝ่ายผู้ถูกร้องมาชี้แจง แต่การทำหน้าที่ของ กกต.ต้อง #เที่ยงธรรม
แต่ กกต.กลับฟังแต่ข้อมูลจาก ส.ว. ฝ่ายไม่เลือกพิธาแต่เพียงฝ่ายเดียว ที่สำคัญคือตอนที่ธนาธรโดนร้องด้วยเรื่องเดียวกันในปี 2562 กกต.ได้เชิญธนาธรมาชี้แจง ทำไมคราวนี้ไม่เชิญพิธามาชี้แจง แล้วนี่จะเรียกว่าเที่ยงธรรมได้อย่างไร?
3.กกต.ละเลยไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ 18-19/2563 ที่ศาลยกคำร้อง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลขณะนั้นจำนวน 29 คน โดยให้เหตุผลว่า แม้บริษัทที่ ส.ส.เหล่านี้ถือหุ้นจะมีวัตถุประสงค์ทำสื่อมวลชน แต่โดยข้อเท็จจริง #ไม่มีการประกอบกิจการสื่อมวลชน อีกทั้ง #ไม่มีรายได้จากการประกอบการสื่อมวลชน จึงไม่ใช่สื่อมวลชน ซึ่งถ้าใช้บรรทัดฐานเดียวกัน กรณีไอทีวีก็ไม่ใช่สื่อมวลชน ทำไม กกต.จึงละเลยเรื่องนี้? นี่เป็นความผิดปกติประการที่สาม
4.อีกทั้งในการถือหุ้นนั้น พิธาก็ถือหุ้นในฐานะ #ผู้จัดการมรดก แล้วสัดส่วนหุ้นก็มีเพียง 0.0035% ซึ่งศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไปแล้วในคดีชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ว่า #การถือหุ้นเพียงน้อยนิดไม่สามารถครอบงำหรือสั่งการใดๆ จึงยัง #ไม่อาจถือได้ว่าถือหุ้นสื่อมวลชน ศาลฎีกาจึงสั่ง กกต.ให้รับสมัคร ทำไม กกต.จึงไม่พิจารณาประเด็นนี้ นี่เป็นความผิดปกติประการที่สี่
5.ในกรณี ส.ส.ถูกร้องเรียนว่าทุจริตเลือกตั้งที่มีหลายสิบคดี กกต.ก็ไม่เร่งรีบแต่ประการใด ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่า กกต.เห็นว่า “สอย” ทีหลังได้จึงไม่รีบ แต่ตำแหน่ง ส.ส.ในเรื่องคุณสมบัติต้องห้าม หรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็สอยทีหลังได้ถ้าผิดจริง แล้วทำไม กกต.จึงต้องเร่งรีบส่งเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี? ความเร่งรีบนี้คือความผิดปกติประการที่ห้า
เร่งรีบอย่างนี้คิดออกได้อย่างเดียวคือ #เพื่อเป็นเหตุผลสำหรับ ส.ว.ในการ #ไม่โหวตให้กับว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคอันดับหนึ่ง ที่มาจากเสียงข้างมากของประชาชน ใช่หรือไม่ครับ?
ผมจึงเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรเออออห่อหมกไปกับคำร้องจาก กกต.ที่ #ไม่เที่ยงธรรม อันนี้ ก็เหมือนอัยการส่งฟ้องมาที่ศาลโดยไม่มีคำให้การผู้ต้องหานั่นแหละครับ ศาลก็จะตีกลับ โดยให้อัยการไปสอบผู้ต้องหาก่อน แล้วส่งมาใหม่ ศาลถึงจะพิจารณาว่าควรจะรับคำฟ้องหรือไม่ได้
กรณีศาลรัฐธรรมนูญก็ควรจะมีมาตรฐานความยุติธรรมแบบเดียวกันครับ แล้วความจริงต้องเหนือกว่าศาลยุติธรรมด้วยซ้ำ เพราะกรณีตามมาตรา 82 ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ก็ยังมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วย คำร้องจึงทำมาอย่างเที่ยงธรรม ไม่ใช่ทำมาโดยฟังแต่ ส.ว.ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามผู้ถูกร้องเช่นนี้
ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรม ไม่ใช่ต่อผู้ถูกร้องคือพิธาเท่านั้น แต่สำคัญยิ่งกว่าคือต่อประชาชนเสียงข้างมากที่เลือกพิธาด้วย ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรสั่งให้ กกต. #ไปทำคำร้องมาใหม่ โดยให้ #ฟังความจากผู้ถูกร้องเสียก่อน แล้วจึงพิจารณาว่าจะรับคำร้องหรือไม่ครับ.